คอซอวอ[1] (เซอร์เบีย: Косово, Kosovo; แอลเบเนีย: Kosovë, Kosova) เป็นภูมิภาคหนึ่งในคาบสมุทรบอลข่าน ติดกับประเทศเซอร์เบียทางทิศเหนือ มอนเตเนโกรทางตะวันตก แอลเบเนียและสาธารณรัฐมาซิโดเนียทางใต้ ไม่มีทางออกสู่ทะเล คอซอวอได้ประกาศเป็นรัฐเอกราชแบบเอกภาคีในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ใช้ชื่อว่า สาธารณรัฐคอซอวอ (Republic of Kosovo) มีการรับรองจากบางประเทศ ในขณะที่เซอร์เบียยังคงถือว่าคอซอวอเป็นจังหวัดปกครองพิเศษของตน เมืองหลวงของคอซอวอคือพริชตีนา (Priština) จำนวนประชากรทั้งจังหวัดประมาณ 2 ล้าน 1 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์แอลเบเนีย (ร้อยละ 92) ชาวเซิร์บ (ร้อยละ 5.3) และมีชาวตุรกี ชาวบอสเนีย กลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ อีกเล็กน้อย (รวมกันร้อยละ 2.7) คอซอวออยู่ภายใต้การบริหารของสหประชาชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ในขณะที่เอกราชของเซอร์เบียนั้นเป็นที่ยอมรับในประชาคมโลก โดยแท้จริงแล้ว การปกครองของเซอร์เบียมิได้ปรากฏในจังหวัดนี้เลย องค์กรที่ปกครองคอซอวออยู่คือคณะทำงานสหประชาชาติในคอซอวอ (United Nations Mission in Kosovo: UNMIK) และสถาบันการปกครองตนเองชั่วคราวของท้องถิ่น (Provisional Institutions of Self-Government) โดยมีกองกำลังคอซอวอ (Kosovo Force: KFOR) ภายใต้การนำขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) เป็นผู้รักษาความมั่นคง จังหวัดคอซอวอเป็นประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองและดินแดนมานานระหว่างชาวเซอร์เบีย (ก่อนหน้านี้คือชาวยูโกสลาฟ) กับชาวแอลเบเนียซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัด การเจรจาในระดับนานาชาติเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2549 เพื่อตัดสินสถานะสุดท้าย จากรายงานของสื่อแขนงต่าง ๆ คาดกันว่า การเจรจาจะนำมาซึ่งเอกราชของดินแดนแห่งนี้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง[2][3][4][5] ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 รัฐสภาของคอซอวอประกาศเอกราชของประเทศแต่เพียงฝ่ายเดียว การออกเสียง ชื่อ คอซอวอ นิยมใช้ในภาษาอังกฤษว่า Kosovo ซึ่งถอดรูปมาจาก Косово ออกเสียง /ˈkɔsɔvɔ/ (คอซอวอ) ในภาษาเซอร์เบีย ในขณะที่ภาษาแอลเบเนียใช้ชื่อว่า Kosova ออกเสียง /kɔˈsɔva/ (คอซอวา) ส่วนเว็บไซต์ของราชบัณฑิตยสถานได้ระบุชื่อในภาษาไทยไว้เป็น "คอซอวอ"[6] ประวัติศาสตร์ ดินแดนคอซอวอมีผู้อาศัยดั้งเดิมตั้งแต่ยุคสำริด คือชาวอิลลีเรีย เผ่าดาร์ดานี โดยที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ระบุถึงราชอาณาจักรดาร์ดาเนีย เมื่อ 400 ปีก่อนคริสตกาล ดินแดนคอซอวอถูกเรียกว่า ดาร์ดาเนีย มาจนถึงศตวรรษที่ 19 ต่อมาราว 100 ปีก่อนคริสตกาล ดาร์ดาเนียได้ตกอยู่ใต้การปกครองของโรมันและจักรวรรดิไบแซนไทน์ ชาวเซิร์บอพยพเข้ามาอยู่ในดินแดนนี้พร้อมคลื่นผู้อพยพกลุ่มต่าง ๆ ที่ทยอยกันมาจากเทือกเขาอูราลเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 7-8 เพื่อมาตั้งรกรากในดินแดนภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรป และกระจัดกระจายกันออกไปในนามต่าง ๆ กัน เช่น เซิร์บ โครแอต มาซิโดเนีย และสโลวีเนีย การอพยพเข้ามาของกลุ่มเหล่านี้ทำให้เกิดการปะทะกับเจ้าของดินแดนเดิม จนปี พ.ศ. 1749 ชาวเซิร์บจึงเข้ายึดครองดินแดนแถบคอซอวอได้ แต่ต่อมาก็ต้องเจอกับอำนาจที่เหนือกว่าคือจักรวรรดิมุสลิมออตโตมันเติร์ก ซึ่งได้เข้ายึดและปกครองดินแดนแถบนี้ 500 ปี เริ่มตั้งแต่สงครามคอซอวอ (พ.ศ. 1932) ไปจนถึง พ.ศ. 2455 หลังสงครามบอลข่านใน พ.ศ. 2455 เซอร์เบียก็เข้ายึดครองคอซอวอ และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของยูโกสลาเวียใน พ.ศ. 2461 จากนั้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศได้ถูกปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม (ไม่ขึ้นต่อสหภาพโซเวียต) โดยมีนายพลติโต เป็นประธานาธิบดี และเมื่อระบอบคอมมิวนิสต์ล่มสลายในปี พ.ศ. 2532 รัฐต่างๆ ที่ประกอบกันเป็นยูโกสลาเวียก็พากันแยกตัวเป็นประเทศอิสระ ได้แก่ สโลวีเนีย โครเอเชีย มาซิโดเนีย บอสเนีย มอนเตเนโกร คอซอวอเองเจอปัญหาจากความคลั่งชาติของอาชญากรสงคราม สลอบอดัน มีลอเชวิช มาตั้งแต่ พ.ศ. 2533 จนกระทั่งเหตุการณ์ตึงเครียดสุดเมื่อเซอร์เบียส่งกองทัพเข้าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมในคอซอวอในปี พ.ศ. 2541 ทำให้นาโต ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ โดยส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดจนเซอร์เบียต้องยอมถอนทหาร และในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2542 กองทหารนาโต 40,000 คนเข้ารักษาความมั่นคงในคอซอวอ เป็นการยุติบทบาทของเซอร์เบียในคอซอวอ ทำให้ตั้งแต่ปี นั้นเป็นต้นมา คอซอวอจึงเป็นจังหวัดหนึ่งของเซอร์เบียเพียงแต่ในนาม ในขณะที่การบริหารงานทุกอย่างอยู่ภายใต้การดูแลของสหประชาชาติ โดยมีโดยกองกำลังทหารของสหประชาชาติ นำโดยนาโต รักษาความปลอดภัยในประเทศ ทั้งนี้ หลังจากรัฐสภาคอซอวอลงมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ ฮาชิม ทาชี นายกรัฐมนตรีคอซอวอ ได้ประกาศแยกคอซอวอออกจากเซอร์เบียเป็นประเทศอิสระ ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 โดยมีประเทศหลักที่ให้การสนับสนุนการประกาศเอกราชของคอซอวอคือ สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป การรับรองเอกราช แผนที่แสดงการรับรองการประกาศเอกราชของคอซอวอ หลังจากการประกาศเอกราชของคอซอวอ มีหลายประเทศให้การรับรองการประกาศเอกราช เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ตุรกี แอลเบเนีย เยอรมนี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และอีกหลายประเทศ ในขณะเดียวกัน มีหลายประเทศที่ประกาศชัดเจนว่า ไม่รับรองเอกราชของคอซอวอ นอกจากเซอร์เบียซึ่งเป็นคู่กรณีแล้ว มีรัสเซีย สเปน ไซปรัส และอีกหลายประเทศ ส่วนไทยเป็นประเทศลำดับที่ 104 ที่ให้การรับรองคอซอวอ โดยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปี พ.ศ. 2556[7] |
About us|Jobs|Help|Disclaimer|Advertising services|Contact us|Sign in|Website map|Search|
GMT+8, 2015-9-11 20:14 , Processed in 0.132083 second(s), 16 queries .