ธงชาติเอสโตเนีย เป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 7 ส่วน ยาว 11 ส่วน พื้นธงแบ่งเป็นแถบแนวนอน 3 แถบ แต่ละแถบนั้นกว้างเท่ากัน เรียงเป็นแถบสีฟ้า สีดำ และสีขาวจากบนลงล่าง (ธงชาติเอสโตเนียขนาดมาตรฐานนั้นกว้าง 105 เซนติเมตร ยาว 165 เซนติเมตร) ธงนี้มีชื่อเรียกเฉพาะในภาษาเอสโตเนียว่า "sinimustvalge" แปลว่า "ธงฟ้า-ดำ-ขาว" ตามสีที่ปรากฏบนธงชาติ ประวัติ ธงฟ้า-ดำ-ขาว ซึ่งได้กลายเป็นธงชาติเอสโตเนียในปัจจุบัน เรื่มปรากฏขึ้นครั้งแรกในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1880 (พุทธทศวรรษที่ 2423) ในฐานะของธงสมาคมนักศึกษาเอสโตเนียแห่งมหาวิทยาลัยทาร์ทู (ตั้งอยู่ที่เมืองทาร์ทู ประเทศเอสโตเนียในปัจจุบัน) และได้มีการเฉลิมฉลองที่ The Hall of the Pastorate of Otepää ในวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2427 ซึ่งธงสมาคมนักศึกษาเอสโตเนียแห่งมหาวิทยาลัยทาร์ทูที่เป็นของเดิมนี้ ได้มีการเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติของประเทศเอสโตเนีย ธงดังกล่าวนี้ต่อมาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการชาตินิยมในเอสโตเนีย และได้กลายมาเป็นธงชาติเอสโตเนียครั้งแรกเมื่อประเทศนี้ประกาศเอกราชจากรัสเซียและเยอรมนีอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2461 ต่อมาได้มีการรับรองให้เป็นธงชาติเอสโตเนียอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน และได้ชักขึ้นในฐานะธงชาติอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่หอคอยพิกก์เทอร์แมน ในกรุงทาลลินน์ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมของปีนั้น[1] ในระยะต่อมาเอสโตเนียได้ตกเป็นเมืองขึ้นของชาติต่างๆ หลายครั้ง ทำให้ธงฟ้า-ดำ-ขาวกลายเป็นธงต้องห้ามของเอสโตเนียภายใต้การปกครองของต่างชาติ ครั้งแรกเมื่อเอสโตเนียถูกกองทัพแดงของสหภาพโซเวียตรุกรานในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2483 ธงชาติเอสโตเนียได้ถูกชักลงจากยอดเสาที่หอคอยพิกก์ เทอร์แมนในวันที่ 21 มิถุนายนของปีนั้น และในวันรุ่งขึ้นธงแดงอันเป็นธงชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตเอสโตเนียก็ได้ถูกชักขึ้นแทนที่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเอสโตเนียภายใต้การปกครองของลัทธิคอมมิวนิสต์ ต่อมาเมื่อกองทัพนาซีเยอรมนีเข้ายึดครองเอสโตเนียระหว่างปี พ.ศ. 2484 - 2488 กองทัพนาซีเยอรมนีได้อนุญาตให้ชาวเอสโตเนียใช้ธงฟ้า-ดำ-ขาวแทนธงของสหภาพโซเวียต ในฐานะธงของชาวเอสโตเนียแต่ไม่ใช่ในฐานะธงชาติ กระทั่งเมื่อกองทัพนาซีเยอรมนีล่าถอยไปในเดือนกันยายน พ.ศ. 2488 ชาวเอสโตเนียก็ได้ใช้ธงฟ้า-ดำ-ขาว เป็นธงชาติของตนเองอีกครั้งในระยะสั้นๆ ก่อนจะกลายเป็นธงต้องห้ามอีกครั้งเมื่อกองทัพสหภาพโซเวียตกลับเข้ามายึดครองเอสโตเนียในวันที่ 22 กันยายน ของปีนั้น และธงแดงของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตเอสโตเนียก็ได้ถูกนำมาใช้เป็นธงชาติเอสโตเนียอีกครั้งเป็นระยะเวลานานหลายปี ภายหลังจากการประกาศใช้นโยบายเปเรสตรอยกาและกลาสนอสต์ หรือนโยบายการเปิดกว้างทางการเมืองและการวางแผนโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ของสหภาพโซเวียตในปี พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ธงฟ้า-ดำ-ขาวก็ได้กลับมามีฐานะเป็นธงชาติเอสโตเนียอีกครั้ง โดยได้มีการชักธงนี้ขึ้นที่หอคอยพิกก์ เทอร์แมนเป็นสัญลักษณ์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 และมีการประกาศยืนยันฐานะความเป็นธงชาติเอสโตเนียอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2533 ก่อนหน้าที่เอสโตเนียจะได้รับเอกราชเพียงเล็กน้อย ธงนี้ได้ใช้สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ความหมาย การให้นิยามความหมายของธงชาติเอสโตเนียมีอยู่หลายแบบ หากตีความตามประวัติศาตร์เอสโตเนียนั้น สีฟ้าจะหมายถึงอิสรภาพในอดีตกาล สีดำหมายถึงสมัยที่ประเทศสูญเสียเอกราช และสีขาวหมายคำสัญญาต่ออนาคตอันสดใสของชาติ แต่ถ้าจะกล่าวตามคำนิยามที่ได้รับคำนิยมทั่วไปซึ่งกวีชื่อมาร์ติน ลิปป์ (Martin Lipp) ได้ให้ไว้ จะมีความหมายดังนี้ สีฟ้า หมายถึงท้องฟ้าแห่งมาตุภมิ สีดำ หมายถึงสีของแผ่นดินเอสโดตเนียซึ่งเป็นสีดำ อีกนัยหนึ่งอาจหมายถึงชะตากรรมอันมืดมนของประเทศนานนับศตวรรษในอดีต สีขาว หมายถึงการทำงานหนักและคุณค่าของมนุษย์ |
About us|Jobs|Help|Disclaimer|Advertising services|Contact us|Sign in|Website map|Search|
GMT+8, 2015-9-11 20:12 , Processed in 0.142691 second(s), 16 queries .